ตากวง ๑

Salacia dongnaiensis Pierre

ไม้เถา กิ่งเป็นเหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปขอบขนาน หูใบเล็ก รูปไข่ ปลายแหลมร่วงง่าย ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ดอกสีเหลืองอมเขียว มีจานฐานดอกรูปกลมหนา คล้ายรูปลูกข่างฉ่ำน้ำ ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปขอบขนานแกมทรงรูปไข่ เมล็ดทรงรูปไข่กว้าง มี ๖-๘ เม็ด

ตากวงชนิดนี้เป็นไม้เถา กิ่งเป็นเหลี่ยม

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๖-๗ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนค่อนข้างกลมหรือเว้ารูปหัวใจตื้น ขอบหยักมน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๖-๒๒ เส้น ก้านใบยาว ๒-๔ มม. หูใบเล็ก รูปไข่ ปลายแหลม ร่วงง่าย

 ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ดอกสีเหลืองอมเขียว ก้านดอกยาวประมาณ ๒.๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม รูปคล้ายสามเหลี่ยมหรือเกือบกลมยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแหลม ขอบมีขน ติดทน กลีบดอก ๕ กลีบ พบน้อยที่มี ๔ กลีบ หรือ ๖-๗ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม รูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๑.๗ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ปลายมน โคนแคบ ตั้งตรงจานฐานดอกรูปกลมหนา คล้ายรูปลูกข่าง ฉ่ำน้ำ หุ้มเกสรเพศเมียเกือบมิด เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ติดอยู่ด้านบนของจานฐานดอก โค้งกลับแนบกับจานฐานดอก ก้านชูอับเรณูแบน อับเรณูหันหน้าออก รังไข่ฝังอยู่ในจานฐานดอก มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๘ เม็ด เรียงเป็น ๒ แนว ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเล็ก

 ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปขอบขนานแกมทรงรูปไข่ กว้าง ๓-๓.๕ ซม. ยาว ๗-๘ ซม. ปลายแคบลงและงอเล็กน้อย มี ๖-๘ เมล็ด เมล็ดทรงรูปไข่กว้าง กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. มี ๖-๘ เมล็ด

 ตากวงชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตากวง ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Salacia dongnaiensis Pierre
ชื่อสกุล
Salacia
คำระบุชนิด
dongnaiensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1833-1905)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์